ฝากประจำ คือ การฝากเงินไว้ก้อนนึง ครั้งเดียวจบ เป็นเวลาตามที่เค้ากำหนด ไม่จำเป็นต้องฝากอีก ถ้าไปถอนก่อนเวลา ก็ไม่ได้ดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ เท่านี้เอง (ส่วนที่เราเข้าใจกันไปว่าต้องฝากเท่าๆกันทุกเดือนนั้นจะเป็นการฝากอีกแบบที่เรียกว่าฝากแบบปลอดภาษีนะคะ)
สมมุติ
ธนาคาร A ประกาศดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 2.5%ต่อปี ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 1% ต่อปี
เราเปิดบัญชีฝากประจำ 3 เดือนไป นั่นหมายความว่า ในระยะ 3 เดือนที่เราฝาก เราไม่มีการถอนออกมาเลย เราก็จะได้ดอกเบี้ยในอัตรา 2.5%ต่อปี
แต่ขอเน้นตรงนี้ไว้ก่อนนะคะ ที่บอกว่า 2.5%ต่อปี แสดงว่า ถ้าเราเป็นแบบฝากประจำ 3 เดือน เราก็จะได้เรทอัตราดอกเบี้ยต่อ 3 เดือนนะคะ ตรงนี้เค้าจะละไว้ในฐานที่เข้าใจกัน ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้สันทัดทางนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจ
ฉะนั้น จากที่บอกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 2.5%ต่อปี หมายความว่า ถ้าเราฝากครบ 3 เดือน เราจะได้ดอกเบี้ย ประมาณ 0.625% ต่อ 3 เดือนค่ะ (เอา 12หารก่อน เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยต่อเดือน แล้วฝากประจำกี่เดือนก็คูณเข้าไป)
ที่นี้ลองมาดูว่า ถ้าเราฝาก 10,000 บาท ครบ 3 เดือน เราจะได้ดอกเบี้ยเท่าไร
10,000 บาท x 0.625% = 62.5 บาท
แต่นิดนึงนะคะ สำหรับเงินฝากประจำ เราจะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วย
ฉะนั้นที่จะได้จริงๆ คือ 62.5 บาท - (62.5 บาทx15%) = 53.125 บาท
เมื่อครบ 3 เดือน เงินในบัญชีเราก็จะเป็นเงินต้นบวกดอกเบี้ยแล้วประมาณ 10,053.125 บาท ถ้าเรายังไม่ถอนออกเงินก้อนนี้ก็จะกลายเป็นเงินต้นเพื่อคำนวณอีก 3 เดือนต่อไป ตราบที่เรายังไม่ถอนออกมา เห็นไม๊คะ แค่เงินก้อนเดียวปล่อยให้ดอกเบี้ยมันวิ่งไปเรื่อยๆ ใครจะรู้เงินหลักพันอาจกลายเป็นหลักหมื่นหลักแสนได้นะเออ ถ้าทิ้งไว้นานๆ คุณจะเห็นอำนาจของเงินทบต้น
ในกรณีที่เราถอนครบกำหนดเราก็ได้อัตราดอกเบี้ยฝากประจำตามที่กำหนด แต่ถ้าเราถอนก่อนกำหนดล่ะ ก็ไม่ต้องรู้สึกผิด หรือห้ามทำอะไรนะคะ ถอนได้ค่ะ เพียงแต่แทนที่จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเค้าก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบออมทรัพย์ให้แทน ดูสิเปิดบัญชีฝากประจำทิ้งไว้ก็ไม่เห็นมีอะไรจะเสีย
อ้อ ที่ยกตัวอย่างมานี่สำหรับฝากประจำแบบ 3 เดือนนะคะ ฝากประจำยังมีแบบ 6 เดือน 12 เดือน วิธีคำนวณก็คล้ายๆกัน
ขอให้ร่ำรวยๆ นะค้าาาา
ปล. เราเอาวิธีคิดแบบเป็นเดือนมาคิดเพื่อประมาณเงินแบบคร่าวๆนะคะ แต่ตามหลักธนาคารแล้วเค้าจะคิดกันเป็นวัน ใครสนใจตามไปดูวิธีคิดได้ในเว็บธนาคารแห่งประเทศไทยเลยนะคะ